“ฟุลไบรท์” นั้น มาจากชื่อของท่านวุฒิสมาชิก เจ วิลเลียม ฟุลไบรท์ (พ.ศ. 2448 - 2538) ซึ่งเป็นผู้ที่ให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเรียนรู้ระหว่างกัน ท่านวุฒิสมาชิกฟุลไบรท์เติบโตและได้รับการศึกษาในรัฐอาร์คันซอส์ ผู้ซึ่งไม่เคยได้มีโอกาสเห็นเมืองใหญ่ๆของประเทศ ก่อนที่จะได้รับทุน Rhodes Scholarship ในปี 2468 เพื่อไปศึกษาต่อในประเทศอังกฤษ ประสบการณ์ในการศึกษาที่มหาวิทยาลัยอ็อกซฟอร์ด 3 ปี และการเดินทางไปในยุโรปทำให้วุฒิสมาชิกฟุลไบรท์ เชื่อมั่นถึงความสำคัญของการมองโลกจากมุมมองของคนนานาประเทศ จากความฝังใจในเรื่องนี้นี่เอง
เมื่อเป็นวุฒิสมาชิกของ พรรคเดโมแครต ของรัฐอาร์คันซอส์ในสมัยแรก ท่านจึงได้ผลักดันกฎหมายให้มีการสนับสนุนโครงการแลกเปลี่ยน โดยอาศัยงบที่ได้จากการขายอุปกรณ์ที่เหลืออยู่ของสหรัฐอเมริกาที่มีอยู่ในประเทศต่าง ๆ หลังสงครามโลกครั้งที่สอง กฎหมายดังกล่าวลงนามโดยประธานาธิบดีทรูแมน เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2489 หลังจากนั้นได้มีกฎหมายฉบับหลังสุดของโครงการแลกเปลี่ยนฟุลไบรท์ ภายใต้พระราชบัญญัติการแลกเปลี่ยนการศึกษาและวัฒนธรรม ปี 2504 ซึ่งเป็นที่รู้จักในนามของ Fulbright - Hays Act
นอกจากทุน เพื่อไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโท และเอก แล้ว ฟุลไบรท์เปิดโอกาสให้ผู้อยู่ในแวดวงวิชาการและในภาคเอกชนด้วยทุนที่ค่อนข้างหลากหลาย นอกจากทุนศึกษาต่อแล้ว ยังมีทุนอบรม ดูงาน เช่น ทุน Hubert H. Humphrey ซึ่งเป็นทุนที่ไม่ใช่เพื่อทำปริญญา ที่เปิดโอกาสให้บุคลากรระดับกลางขององค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนรับทุนเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำในบางวิชา และศึกษาดูงานอย่างเข้มข้นในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับความสนใจของผู้ได้รับคัดเลือกให้รับทุน มีทุนวิจัยสำหรับอาจารย์ที่กำลังศึกษาในระดับปริญญาเอก การวิจัยร่วมในเรื่องที่กำหนด การสอนหรือพัฒนาหลักสูตรในมิติต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับอเมริกันศึกษา เป็นต้น
ฟุลไบรท์และประเทศไทย
ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งในบรรดา 50 กว่าประเทศทั่วโลก ที่มีความร่วมมือในลักษณะการร่วมรับค่าใช้จ่ายในการให้ทุนฟุลไบรท์ โดยได้จัดตั้งเป็นมูลนิธิการศึกษาไทย - อเมริกัน ตั้งแต่ พ.ศ. 2493 ซึ่งแสดงถึง “ความเป็นคู่ความร่วมมือของสองชาติ” (Binationalism) ทุกปีรัฐบาลสหรัฐและรัฐบาลไทยจึงได้มีการอุดหนุนงบประมาณเพื่อการส่งเสริมกิจกรรมการแลกเปลี่ยนอย่างสม่ำเสมอ รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ให้งบประมาณแก่มูลนิธิฯ ทุกปี จนปัจจุบันให้งบสนับสนุนจำนวนประมาณ 745,000 เหรียญสหรัฐต่อปี รัฐบาลไทยสมทบค่าใช้จ่ายในรูปของเงินสนับสนุนจำนวน 2 ล้านบาทให้มูลนิธิฯ เมื่อ พ.ศ.2532 และเพิ่มเป็น 5 ล้านบาท ตั้งแต่ พ.ศ. 2540 เป็นต้นมา นอกจากนี้ยังให้เงินเพื่อซื้อสำนักงานที่ตั้งของมูลนิธิฯ ในปัจจุบัน จำนวน 3 ล้านบาท และให้งบในรูปแบบอื่น ๆ ผ่านหน่วยงานภาครัฐ ทั้งในรูปของเงิน และไม่ใช่เงิน เช่น งบสมทบค่าเรียน ค่าตั๋วเครื่องบิน ที่พัก เป็นต้น
จนถึงปัจจุบัน มูลนิธิฯ ได้ให้ทุนแก่ชาวไทย เพื่อไปศึกษาในระดับปริญญาโทและเอก ไปสอน วิจัย และอบรมดูงาน รวมกว่า 1,400 ทุน และมีชาวอเมริกันได้รับทุนมากกว่า 400 ทุน ศิษย์เก่าฟุลไบรท์หลาย ๆ ท่านของไทย ดำรงตำแหน่งสำคัญ ๆ มากมาย ทั้งในแวดวงการศึกษา หน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ บริษัทเอกชน เช่น นายแพทย์เกษม วัฒนชัย องคมนตรี ศาสตราจารย์เกษม สุวรรณกุล อดีตรัฐมนตรีทบวงมหาวิทยาลัย ดร. อาชว์ เตาลานนท์ ประธานหอการค้าไทย ศาสตราจารย์วิจิตร ศรีสอ้าน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ศาสตราจารย์สุมน อมรวิวัฒน์ นักการศึกษา และนายจักรภพ เพ็ญแข โฆษกรัฐบาล เป็นต้น